พุกเป็นอุปกรณ์งานช่างที่สำคัญชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับเพิ่มแรงยึดเกาะให้กับการติดหรือแขวนสิ่งของ และของตกแต่งต่างๆ พุกมีให้เลือกใช้หลากหลายชนิดด้วยกัน การใช้งานพุกจึงจำเป็นต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุด สำหรับประเภทของพุกแบ่งได้เป็น 7 ประเภท ดังนี้
- พุกพลาสติก หรือพุกตัวหนอน
พุกพลาสติก หรือพุกตัวหนอนเป็นพุกที่มีลักษณะคล้ายกับตัวหนอน มีเบอร์ให้เลือกหลายตามการใช้งาน เหมาะกับการใช้งานง่ายๆที่มีน้ำหนักไม่มาก เช่น การแขวนรูปภาพประดับผนังก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป เมื่อขันสกรูเข้าไปตัวหนอนจะพองขึ้นและยึดแน่นติดกับปูน
- พุกเหล็ก
พุกเหล็กใช้สำหรับเจาะผนังคอนกรีต ด้วยความที่พุกเหล็กผลิตจากเหล็ก การใช้งานจึงต้องใช้ภายในอาคารเท่านั้นเพื่อป้องกันสนิม นอกจากนี้พุกเหล็กยังสามารถใช้งานได้ดีในงานที่ต้องการรับน้ำหนักมากเป็นพิเศษ เช่น งานติดตั้งเสารับน้ำหนักบนพื้นคอนกรีตของโรงรถ งานยึดฝ้าเพดานเพื่อแขวนแชนเดอเลียร์ เป็นต้น
- พุกสำหรับคอนกรีตบล็อก
พุกสำหรับคอนกรีตบล็อกมีลักษณะคล้ายกับพุกตัวหนอน ส่วนการใช้งานก็ตามชื่อเลยคือ ใช้สำหรับผนังคอนกรีต ผลิตจากไนลอนจึงมีความเหนียวและแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้สูงกว่าพุกพลาสติกทั่วไป
- พุกเคมี
พุกเคมีเป็นพุกที่มีลักษณะเป็นหลอดแก้วบรรจุน้ำยาเคมีอยู่ภายใน ซึ่งเป็นกาวที่มีคุณสมบัติเหนียวแน่น และแห้งตัวเร็ว เมื่อใส่ตะปูเกลียวเข้าไป หลอดแก้วจะแตกตัวและทำให้สกรูเกาะติดได้แน่นมากยิ่งขึ้น พุกชนิดนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ เนื่องจากมีราคาแพงและเป็นอุปกรณ์ของช่างก่อสร้างมืออาชีพ
- พุกสำหรับงานยิปซัม
พุกสำหรับงานยิปซัมผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กับผนังยิปซัมและผนังเบาโดยเฉพาะ มีประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักน้อยกว่าผนังแบบอื่นๆ จึงออกแบบมาให้มีลักษณะเป็นแฉก เมื่อขันสกรูเข้าไป พุกจะกางออกที่ด้านในของแผ่นยิปซัม
- พุกสำหรับคอนกรีตมวลเบา
พุกชนิดนี้เป็นอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้สำหรับเจาะผนังคอนกรีตมวลเบาโดยเฉพาะ มีลักษณะคล้ายกับพุกตัวหนอน แต่ลำตัวมีลักษณะเป็นเกลียว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและประสิทธิภาพในการยึดเกาะ
- พุกตะกั่ว
พุกตะกั่วใช้สำหรับเจาะผนังคอนกรีต เหมาะกับงานกลางแจ้ง เนื่องจากรับน้ำหนักและทนต่ออุณหภูมิความร้อนภายนอกบ้านได้ดีกว่าพุกพลาสติกหรือพุกเหล็กซึ่งเกิดสนิมได้ง่าย เช่นการติดตั้งแท็งก์บรรจุ น้ำดื่มน้ำใช้ที่ตั้งอยู่บนระเบียงหรือดาดฟ้า